อาการทางกายของโรคซึมเศร้า
ภาวะซึมเศร้ากับความเจ็บปวดทางร่างกายไม่ได้เชื่อมโยงกันบ่อยนัก แต่มีการวิจัยพบว่าความเจ็บป่วยทางจิตนี้สามารถสร้างความเจ็บปวดทางกายภาพได้
ในขณะที่มีความเจ็บปวดจากการซึมเศร้า เรามักเชื่อมโยงความเจ็บป่วยทางจิตใจนี้เข้ากับความเจ็บปวดทางอารมณ์ เช่น ความโศกเศร้า การร้องไห้ และความรู้สึกสิ้นหวัง
ผลการวิจัยจากแหล่งที่เชื่อถือได้แสดงให้เห็นว่า ภาวะซึมเศร้าสามารถแสดงออกมาในรูปแบบของความเจ็บปวดทางร่างกายได้เช่นกัน
ในขณะที่เรามักไม่ค่อยคิดกันว่า โรคซึมเศร้าเป็นความเจ็บปวดทางร่างกาย แต่บางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีการพูดถึงเรื่องสุขภาพจิตอย่างเปิดเผยเป็นข้อห้ามทางวัฒนธรรม
ตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมในจีนและเกาหลีนั้น โรคซึมเศร้าถือเป็นเรื่องของจินตนาการ ดังนั้นหากคาดว่าความเจ็บปวดทางร่างกายที่ผู้ป่วยได้รับนั้นไม่ได้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความทุกข์ทางจิตใจ ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการทางร่างกาย แทนที่จะกล่าวถึงภาวะซึมเศร้า
แต่การรักษาอาการทางกายเหล่านี้ก็มีความสำคัญพอ ๆ กับผลกระทบทางอารมณ์ที่อยู่ในใจ
ประการที่ 1 การตรวจสอบร่างกายและจิตใจของคุณเป็นวิธีที่ดี ร่างกายสามารถส่งสัญญาณของอาการว่ากำลังจะเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าออกมา หรือทำให้รู้ว่าคุณกำลังมีอาการซึมเศร้า
ในทางตรงกันข้ามอาการทางร่างกายแสดงให้เห็นว่า ในความเป็นจริงแล้วภาวะซึมเศร้าเป็นเรื่องจริงแท้แน่นอนและอาจเป็นอันตรายต่อความเป็นอยู่โดยรวมของเราได้
อาการทางกายที่พบบ่อยที่สุด 7 อย่างของภาวะซึมเศร้า คือ
1. ความเหนื่อยล้าหรือไร้เรี่ยวแรงลงเรื่อยๆ
ความเหนื่อยล้าเป็นอาการทั่วไปของโรคซึมเศร้า บางครั้งเราแต่ละคนพบว่า มีความรู้สึกเฉื่อยชาและระดับพลังลดลงในตอนเช้า อยากจะนอนดูทีวีอยู่บนเตียงแทนการออกไปทำงาน
เรามักเชื่อว่าความเหนื่อยล้าเกิดจากความเครียด ในขณะที่ภาวะซึมเศร้าก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าได้เช่นกัน ซึ่งจะแตกต่างไปจากความเหนื่อยล้าจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ความเหนื่อยล้าที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมสมาธิ ความรู้สึกหงุดหงิด และไม่แยแสกับอะไรเลย
ดร. Maurizio ผู้อำนวยการโครงการวิจัยทางคลินิกที่โรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์แห่งบอสตัน ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่มีอาการซึมเศร้ามักจะนอนไม่หลับ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะรู้สึกเฉื่อยชาแม้ว่าจะได้พักผ่อนมาตลอดทั้งคืนแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ตามความเจ็บป่วยทางร่างกายมีสาเหตุมาจากหลายอย่าง เช่น ความเหนื่อยล้าที่อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส จึงนับเป็นเรื่องยากที่จะแยกแยะได้อย่างชัดเจนว่า ความอ่อนเพลียที่เกิดขึ้นนั้นเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าหรือไม่
วิธีที่จะบอกได้อย่างหนึ่งคือ ในขณะที่ความเหนื่อยล้าในชีวิตประจำวันเป็นสัญญาณของความเจ็บป่วยทางจิต อาการอื่น ๆ เช่น ความเศร้า ความรู้สึกสิ้นหวัง และ anhedonia (การขาดความสุขในกิจกรรมประจำวัน) อาจเกิดขึ้นได้เมื่อคุณมีภาวะซึมเศร้า
2. อดทนต่อความเจ็บปวดได้น้อยลง (หรือที่เรียกว่าเจ็บมากขึ้นกับทุกอย่าง)
คุณเคยรู้สึกว่าเส้นประสาทของคุณร้อนเหมือนโดนไฟเผา แต่คุณไม่พบสาเหตุใด ๆ ที่ทำให้คุณรู้สึกอย่างนั้นเลยบ้างหรือไม่? นั่นคือความเจ็บปวดมักจะเกิดขึ้นร่วมกับอาการซึมเศร้า
ในปี ค.ศ.2015 มีผลงานจากการศึกษาชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่มีอาการซึมเศร้าและความต้านทานต่อความเจ็บปวดลดลง ในขณะที่การศึกษาชิ้นอื่นๆ ในปี 2010 แสดงให้เห็นว่าความเจ็บปวดจะมีความรุนแรงมากขึ้นในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า
อาการทั้งสองนี้ไม่มีเหตุผลใดที่เชื่อมโยงถึงกันได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องประเมินอาการทั้ง 2 อย่างนี้ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากแพทย์แนะนำให้รักษาโดยการใช้ยา
งานวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่า การใช้ยาต้านอาการซึมเศร้าไม่เพียงแต่ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้เป็นยาแก้ปวดและต่อสู้กับความเจ็บปวดได้อีกด้วย
3. ปวดหลังหรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย
คุณอาจรู้สึกสบายดีในตอนเช้า แต่เมื่อคุณทำงานหรือนั่งอยู่ที่โต๊ะเรียนคุณจะเริ่มปวดหลัง ซึ่งอาจเกิดจากความเครียดหรืออาจเกิดจากภาวะซึมเศร้า แม้ว่าอาการเหล่านี้มักเกี่ยวข้องกับการจัดท่าทางของร่างกายที่ไม่เหมาะสมหรือเกิดจากการบาดเจ็บ แต่อาการปวดหลังก็อาจเป็นหนึ่งในอาการของความทุกข์ทางจิตใจได้เช่นกัน
การศึกษาวิจัยในปี 2017 ของนักศึกษามหาวิทยาลัยในแคนาดา 1,013 คน พบความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างภาวะซึมเศร้าและอาการปวดหลัง
นักจิตวิทยาและจิตแพทย์เชื่อมานานแล้วว่า ปัญหาทางอารมณ์อาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยเรื้อรังได้ แต่ยังคงมีการค้นคว้าข้อมูลเฉพาะทาง เช่น ความเชื่อมโยงระหว่างภาวะซึมเศร้าและการตอบสนองต่อการอักเสบของร่างกาย
มีการศึกษาใหม่ๆ ที่ได้เสนอแนะว่า การอักเสบภายในร่างกายอาจมีบางอย่างเกี่ยวข้องกับระบบประสาทในสมองของเรา คาดว่าการอักเสบนี้อาจขัดขวางการส่งสัญญาณของสมอง และอาจมีส่วนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า และมีผลต่อวิธีการรักษา
4. ปวดศีรษะ
แทบทุกคนเคยมีอาการปวดหัวเป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นเรื่องปกติมากและเรามักไม่สนใจเพราะคิดว่าไม่มีอันตรายร้ายแรง สถานการณ์การทำงานที่ตึงเครียด เช่น มีความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานอาจทำให้มีอาการปวดศีรษะได้
อย่างไรก็ตาม อาการปวดศีรษะนี้อาจไม่ได้เกิดจากความเครียดเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเคยอดทนกับเพื่อนร่วมงานของคุณมาก่อน แต่หากสังเกตพบว่ามีอาการเปลี่ยนไป คือ คุณมีอาการปวดหัวทุกวัน นั่นอาจเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้า
ซึ่งแตกต่างจากอาการปวดหัวไมเกรนอย่างรุนแรง อาการปวดหัวที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าไม่จำเป็นต้องทำให้การทำงานของคนเราแย่ลง National Headache Foundation ได้อธิบายไว้ว่า “ปวดศีรษะแบบตึงเครียด” อาการปวดศีรษะประเภทนี้อาจทำให้รู้สึกเหมือนมีอาการสั่นเบาๆ ร่วมอยู่ด้วย โดยเฉพาะบริเวณคิ้ว
ในขณะที่อาการปวดหัวเหล่านี้อาจได้หายไปได้จากการใช้ยาแก้ปวดที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป แต่มักจะกลับมาปวดซ้ำได้ใหม่อยู่เป็นประจำ บางครั้งอาการปวดศีรษะจากความตึงเครียดเรื้อรังอาจเป็นอาการของโรคซึมเศร้า
อย่างไรก็ตาม อาการปวดศีรษะไม่ใช่ข้อบ่งชี้เพียงอย่างเดียวที่จะบอกว่า ความเจ็บปวดของคุณอาจเป็นเรื่องทางจิตใจ ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักมีอาการอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น ความเศร้า ความรู้สึกหงุดหงิด และไร้เรี่ยวแรง
5. มีปัญหาสายตาหรือความสามารถในการมองเห็นลดลง
คุณมองเห็นโลกนี้แบบพร่ามัวบ้างหรือไม่? แม้ว่าภาวะซึมเศร้าอาจทำให้โลกจะดูเป็นสีเทาและดูเย็นชา แต่ในปี 2010 มีงานวิจัย ในเยอรมนีชิ้นหนึ่งชี้ให้เห็นว่า ความกังวลด้านสุขภาพจิตนี้อาจส่งผลต่อสายตาของคนเราได้
ในการศึกษากับกลุ่มทดลองจำนวน 80 คน พบว่า คนที่ซึมเศร้ามีปัญหาในการมองเห็นความแตกต่างของสีดำและสีขาว ที่นักวิจัยรู้จักกันในชื่อ “การรับรู้คอนทราสต์” สิ่งนี้อาจใช้อธิบายได้ว่าทำไมภาวะซึมเศร้าจึงทำให้โลกดูมืดมน
6. ปวดท้องหรือรู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
ความรู้สึกลึกๆ ในท้อง เป็นหนึ่งในสัญญาณที่เด่นชัดที่สุดของภาวะซึมเศร้า อย่างไรก็ตามเมื่อคุณเริ่มรู้สึกปวดเกร็งที่หน้าท้อง คุณสามารถหายปวดได้ง่ายกว่า อาการปวดประจำเดือน หรือปวดเมื่อยทั่วไป
ความเจ็บปวดที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดความเครียด อาจเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้า ในความเป็นจริงนักวิจัยของ Harvard Medical School แนะนำว่า ความรู้สึกไม่สบายท้อง เช่น ปวดเกร็ง ท้องอืด และคลื่นไส้ อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่ามีสุขภาพจิตที่ไม่ดี
ความไม่สบายท้องเชื่อมโยงกับอะไร? ข้อมูลของ นักวิจัยจาก Harvard พบว่า ภาวะซึมเศร้าอาจทำให้ (หรือเป็นผลมาจาก) ระบบย่อยอาหารอักเสบ โดยมีอาการปวดที่เข้าใจผิดได้ง่ายว่าเป็นโรค เช่น ลำไส้อักเสบ หรือลำไส้แปรปรวน
บางครั้ง แพทย์และนักวิทยาศาสตร์เรียกลำไส้ว่า สมองที่สอง “second brain” เนื่องจากพบว่า มีความเกี่ยวข้องกันระหว่างสุขภาพทางเดินอาหารและสภาพทางจิตใจ กระเพาะอาหารของเราเต็มไปด้วยแบคทีเรียที่ดี และหากแบคทีเรียชนิดนี้ขาดความสมดุล อาจทำให้เกิดอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าได้
การรับประทานอาหารที่สมดุลและการรับประทานโปรไบโอติก สามารถช่วยในการฟื้นฟูสุขภาพของลำไส้ให้ดีขึ้นได้ ซึ่งอาจทำให้มีอารมณ์ดีขึ้นได้เช่นกัน แต่เรื่องดังกล่าวนี้ยังมีความจำเป็นต้องได้รับการวิจัยเพิ่มเติม
7. ปัญหาทางเดินอาหารหรือลำไส้ผิดปกติ
ปัญหาทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูกและท้องร่วง อาจเป็นเรื่องน่าอายและไม่สบายใจ ซึ่งมักเกิดจากอาหารเป็นพิษ หรือไวรัสในระบบทางเดินอาหาร เป็นเรื่องง่ายที่จะสันนิษฐานว่า ความรู้สึกไม่สบายของลำไส้เกิดจากความเจ็บป่วยทางร่างกาย
แต่อารมณ์ เช่น ความเศร้า ความวิตกกังวล และความรู้สึกที่รุนแรงมาก สามารถขัดขวางการย่อยอาหารของเราได้ มีการศึกษาในปี 2011 ชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และอาการปวดในระบบทางเดินอาหาร
ความเจ็บปวดเป็นการสื่อสารอีกวิธีหนึ่งของสมอง
หากคุณรู้สึกไม่สบายใจที่จะพูดถึงอารมณ์ที่น่าวิตกอย่างเจาะจง เช่น ความเศร้า ความโกรธ และความอับอาย สิ่งนี้อาจส่งผลให้แสดงความรู้สึกออกมาทางร่างกายแตกต่างกันไป
หากคุณมีอาการทางร่างกายเหล่านี้มานานแล้ว ให้นัดหมายกับแพทย์เพื่อขอให้เป็นแพทย์หรือพยาบาลประจำตัวที่จะช่วยรักษา หากคุณยังไม่สามารถหาแพทย์หรือพยาบาลได้ ให้คลิ๊กที่ Healthline FindCare tool ของเรา เพื่อให้เราสามารถช่วยคุณติดต่อกับแพทย์ในพื้นที่ของคุณได้
จากข้อมูลของ American Psychological Association ภาวะซึมเศร้าเป็นหนึ่งในความเจ็บป่วยทางจิตใจที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ใหญ่ชาวอเมริกันถึง 14.8 ล้านคนในแต่ละปี
ภาวะซึมเศร้าอาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม การมีความเครียดในวัยเด็ก การบาดเจ็บ และสารเคมีในสมอง ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตบำบัด และรักษาโดยการใช้ยาเพื่อให้ฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ
ในการนัดหมายของคุณนั้น หากสงสัยว่าอาการทางกายเหล่านี้อาจจะเป็นมากกว่าอาการแบบผิวเผินทั่วไป ขอให้รับการตรวจคัดกรองภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลด้วย วิธีนี้ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพของคุณ จะสามารถแนะนำและให้ความช่วยเหลือแก่คุณได้
นี่คือแหล่งที่มาในบทความของเรา
● https://www.nimh.nih.gov/health/topics/depression/index.shtml
● https://www.webmd.com/depression/default.htm
● https://www.nhs.uk/conditions/clinical-depression/
Leave a Reply